Print this page
Tuesday, 14 August 2018 21:05

เลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่แม่สอด มอบนโยบายพัฒนาทักษะ ฟัง-พูดภาษาไทย

Rate this item
(0 votes)

IMGL9734สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูแกนนำพัฒนาทักษะการฟังและพูดภาษาไทยเพื่อการสื่อสารสำหรับผู้ใหญ่บนพื้นที่สูงในพื้นที่โครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ขึ้นในระหว่างวันที่ 13-19 สิงหาคม 2561 ซึ่งมีการดำเนินงาน 2 กิจกรรม คือการประชุมชี้แจงนโยบาย ขั้นตอนความเป็นมาโดยสรุปเพื่อสร้างความเข้าใจในหลักการ วิธีการดำเนินงานและการหารือร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงานหลักในการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่ 5 จังหวัด และกิจกรรมที่สองระหว่างวันที่ 14-19 สิงหาคม 2561 เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านแสม และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”บ้านห้วยแห้ง อำเภอแม่ระมาด เพื่อเรียนรู้การดำเนินกิจกรรมและสามารถนำความรู้ไปฝึกปฏิบัติในพื้นที่เป้าหมายได้ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า “สืบเนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมประชาชนในชนบท ห่างไกลและทุรกันดาร ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทำให้ทรงทราบถึงปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความขาดแคลนอาหารและปัจจัยต่างๆ การขาดโอกาสได้รับบริการทางด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษา โดยพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้ประชาชนทุกระดับชั้นได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะผู้สูงวัยบางส่วนยังไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยด้วยการฟังและการพูดได้ นับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พระองค์ทรงห่วงใย โดยเฉพาะการใช้ภาษาไทยติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นภายนอกชุมชนในเรื่องต่างๆ เช่น การทำมาหากินการรักษาพยาบาล เป็นต้น เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 พระองค์จึงมีพระราชดำรัส ให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เพื่อสนองงานตามพระราชดำรัสดังกล่าว และในปี พ.ศ. 2561 นี้ได้กำหนดให้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงและมีกลุ่มประชาชนตามหย่อมบ้านหรือชุมชนที่มีการใช้ภาษาอื่นๆ แตกต่างจากภาษาไทย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดน่านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงจัดอบรมดังกล่าวขึ้นเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนางานร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) มีรูปแบบ วิธีการทำงานจาก สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นต้นแบบของการดำเนินงาน ผมมีความเชื่อมั่นและมุ่งหวังว่า หากทุกภาคส่วนมีความตระหนักและให้ความสำคัญของการศึกษา เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและเพื่อพัฒนาให้ประชาชนนำไปใช้ในการดำรงชีวิตให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะภาษาไทยที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ที่ด้อยและขาดโอกาสในการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชาติให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ทุกท่านจะต้องร่วมกันหารือและร่วมกันพัฒนากลุ่มคนเหล่านี้ให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความปกติสุข” นายบุญรักษ์กล่าว...//

Read 1076 times